โดยวันเยาวชนสากล หรือ International Youth Day ได้ถูกกำหนดขึ้นโดยสหประชาชาติในครั้งแรก คือ วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งมีจุดประสงค์ คือ การสร้างความตระหนัก และความสนใจในประเด็น ทางวัฒนธรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน
ซึ่งหัวข้อของ วันเยาวชนสากลปี พ.ศ. 2563 นี้คือ “การมีส่วนร่วมของเยาวชน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติการทั่วโลก” โดยมุ่งเน้นให้เห็นถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมของเยาวชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ จนถึงระดับโลก
ในการประชุมออนไลน์ครั้งที่ 4 นี้ ดร. Shiang Cheng Lim ได้นำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง “การป้องกันที่มากเกินไป และการด้อยโอกาส – อุปสรรคทางกฎหมาย ในการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพทางเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์ของเยาวชนในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
เนื่องจาก การเข้าถึงการบริการ ด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของเยาวชนนั้นถูกจำกัดด้วยปัจจัยต่าง ๆ รวมถึงบรรทัดฐานทางสังคม วัฒนธรรม และกฎหมาย โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อตรวจสอบผลกระทบทางกฎหมาย และปัจจัยอื่น ๆ เช่น สังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมและศาสนาที่มีต่อการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพทางเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์ ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
โดยภาพรวมด้านสุขภาพทางเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์ของเยาวชนในเอเชียและแปซิฟิกคือ
(1) การขาดการเข้าถึงการศึกษาในเรื่องเพศที่เป็นภาพรวม
(2) การคุมกำเนิดที่ไม่จำเป็น
(3) การเพิ่มขึ้นของการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเอชไอวี
(4) วงจรสุขภาพที่เสียหายนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี รวมไปถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย
การศึกษานี้ได้ทำการวิจัยเป็นลักษณะการทบทวนและการวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง และการสนทนากลุ่ม ในมุมมองของทั้งเยาวชนและผู้ให้การบริการด้านสุขภาพ เพื่อตรวจสอบความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของกฎหมายที่เกี่ยวกับการเข้าถึงการบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์
โดยผลกระทบของกฎหมาย และบริบทอื่น ๆ ที่มีต่อการเข้าถึงการบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ ของเยาวชนในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ นั้นถูกจำกัดโดยกฎหมาย และข้อบังคับทั้งทางตรง และทางอ้อม ได้แก่
1. ในทางกฎหมายแล้วการเข้ารับการรักษาทางการแพทย์เองนั้น เยาวชนต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทำให้กฎหมายไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของเยาวชนในเรื่องกิจกรรมทางเพศ สำหรับเด็กหรือเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้
2. การเข้าถึงการบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ สำหรับเยาวชนที่ยังไม่ได้แต่งงาน โดยเฉพาะชาวมุสลิมนั้น ยังถูกจำกัดตามกฎหมายของศาสนาอิสลาม เช่นเดียวกับบรรทัดฐานทางสังคม วัฒนธรรมที่ถูกตีตราจากการกระทำทางเพศใด ๆ อันนอกเหนือจากการสมรสให้ถือว่าเป็นอาชญากรรม
3. ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพเคยรายงานว่า ได้ทำปฏิเสธการเข้ารับการบริการสุขภาพทางเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์ของวัยรุ่นที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เนื่องจากขาดความยินยอมของผู้ปกครอง มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดผลกระทบจากผู้ปกครอง ชุมชน ศาสนาและผลทางกฎหมาย
4. การบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ สำหรับเยาวชนนั้นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง หรือคู่สมรสเท่านั้น
5. การตระหนักเรื่องการให้บริการและสิทธิ์นั้นยังน้อยอยู่
6. ค่าใช้จ่ายในการให้บริการ รวมถึงทัศนคติ และความเชื่อของผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ
บทสรุป: ปัญหาทางเพศในเรื่องเพศและการเจริญพันธุ์เป็นเรื่องต้องห้ามของหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการถูกตีตรานั้นทำให้เกิดความอับอายขายหน้าได้ โดยสามารถนำไปสู่การลังเล ที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ หรือ มีการจำกัดการให้บริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ สำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐาน เช่น คนโสด และกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น
ผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมของกฎหมายที่ขัดกับบรรทัดฐานทางสังคม วัฒนธรรม และความเชื่อทางศาสนานำไปสู่ข้อจำกัดของการเข้าถึงการบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของวัยรุ่น เช่น การทำแท้งต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน หรือการตีตราต่อกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมทางเพศด้วยความสมัครใจนั้นถือว่าเป็นอาชญากร
อุปสรรคทางสังคม วัฒนธรรมและกฎหมายส่งผลให้:
(1) เยาวชนมีความเสี่ยงต่อโรคสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ เช่น การตั้งครรภ์แบบไม่ตั้งใจ การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และเอชไอวี
(2) อุปสรรคทางเศรษฐกิจสำหรับผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากรายได้ต้องมาก่อน
คำแนะนำได้แก่:
1. การทบทวนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายเรื่องอายุที่มีต่อความยินยอมทางการแพทย์ในการเข้าถึงการบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์
2. การศึกษาเรื่องเพศนั้นควรมีความเหมาะสมกับอายุ
3. ควรมีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ
ในประเทศไทยเองสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจาก สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส และ UNFPA ได้จัดทำการสำรวจเสียงและความต้องการของเยาวชนเกี่ยวกับสิทธิด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ตามพรบ.การป้องกันและแก้ไขปัญหา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 โดยมุ่งเน้นเรื่องสิทธิสุขภาวะทางเพศ และทักษะที่จำเป็น โดยเด็กและยาวชนที่ให้ข้อมูลมี อายุระหว่าง 10 - 25 ปี ในระหว่าง เดือนกรกฎาคม ถึง เดือนตุลาคม พ.ศ. 2562
โดยเสียงจากเด็กและเยาวชนต่อสภาพปัญหาและความต้องการด้านสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์มี 5 เรื่อง ได้แก่
1) เด็กและเยาวชนมีความกังวลใจต่อสี่เรื่องหลักที่มีผลกระทบต่อวัยรุ่นมากที่สุด คือ ซึมเศร้า อุบัติเหตุ ยาเสพติด และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
2) เด็กและเยาวชนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา ในสถานศึกษา ในภาพรวม แต่ยังคงต้องปรับปรุงเนื้อหาให้รอบด้าน โดยคำนึงถึงสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของวัยรุ่นให้มากขึ้น ไม่มุ่งเพียงการนำเสนอผลกระทบทางลบของการมีเพศสัมพันธ์ และต้องเพิ่มศักยภาพของบุคคลากร ครู ในเรื่องการให้คำปรึกษาและเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวของเด็กและเยาวชน
3) การเลี้ยงดูและทัศนคติของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน ยังไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ และปรับทัศนคติเรื่องเพศวิถีศึกษาของเด็กและเยาวชน อีกทั้งเด็กและเยาวชนมีความต้องการพัฒนาทักษะที่จำเป็น สำหรับคนรุ่นใหม่ในอนาคต
4) ถ้า “ฉันท้อง” หรือ “คนรักของฉันท้อง” ครึ่งหนึ่งของเด็กและเยาวชนมีความเห็นว่า “แม่” เป็นบุคคลแรกที่ตนจะปรึกษาและขอคำแนะนำ โดย 2 ใน 3 ของเด็กและเยาวชน มั่นใจว่าตนมีความรู้ที่สามารถให้คำแนะนำกับเพื่อนที่ตั้งท้องได้ว่า ควรทำอย่างไรโดยเฉพาะความรู้เรื่องการพิทักษ์สิทธิเมื่อวัยรุ่นตั้งครรภ์
5) ครึ่งหนึ่งของเด็กและเยาวชน รู้สึกพึงพอใจการให้บริการอนามัยการเจริญพันธุ์ในพื้นที่ที่ตนพักอาศัย แต่ควรมีการปรับปรุง เพิ่มเติมให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กและเยาวชนมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการเพิ่มช่องทางการสื่อสาร ให้คำปรึกษาและข้อมูลทางโซเชียลมีเดียที่เหมาะสมกับวัยรุ่น ตลอดจนมีช่องทางการเข้าถึงถุงยางอนามัยที่เป็นมิตรมากขึ้น
วารุณี ขัติเตมี
รายงาน
11 August 2020