การประชุมออนไลน์ครั้งที่ 6 ของการประชุมเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 10 เรื่อง นวัตกรรมทางการเงินในด้านสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
Dr Moazzam Ali นักระบาดวิทยาขององค์การอนามัยโลก ได้นำเสนองานวิจัย เรื่อง ประสิทธิผลของรูปแบบบัตรกำนัลในการตอบสนองต่อการคุมกำเนิดของผู้ด้อยโอกาส ในแคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถานFamily Planning Vouchers หรือ บัตรกำนัลสำหรับการวางแผนครอบครัวนั้น เป็นเครื่องมือในการเพิ่มการเข้าถึง และเป็นทางเลือกของวิธีคุมกำเนิด โดยบัตรกำนัลการดูแลสุขภาพนี้ คือกระดาษ หรือ คูปองทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถนำไปใช้กับผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพที่ได้รับการรับรองแล้ว เพื่อใช้แลกกับการ บริการด้านการดูแลสุขภาพ โดยบัตรกำนัลนี้ได้ใช้เป็นกลไกในการจัดหาทุนและเครื่องมือ เพื่อให้เกิดการปรับปรุง และเพิ่มการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพที่สำคัญและเท่าเทียมกัน โดยบัตรกำนัลนี้เป็นรูปแบบของการจัดหาเงินทุนในระบบสุขภาพประเภทหนึ่ง ซึ่งรวมถึงการชำระเงินหรือการโอนเงินที่ไม่ใช่ตัวเงินด้วย โดยหลังจากได้รับการบริการและทำการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ทางระบบการจัดการใบสำคัญจะออกบัตรกำนัลให้ หลังจากที่ผู้ให้บริการได้ส่งมอบการดูแลตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของโปรแกรม ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเลือกได้ว่า จะขอรับการดูแลเมื่อใดและที่ไหนก็ได้
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 ประการ คือ
1. เพิ่มการเข้าถึงการบริการ โดยการขยายให้ครอบคลุมต่อจำนวนประชากร
2. เพื่อเพิ่มขอบเขตของคุณภาพและปริมาณในการให้บริการด้านสุขภาพ
3. เพิ่มการคุ้มครองทางการเงิน เพื่อจะปรับปรุงขนาดของเงินทุน โดยเพิ่มการบริการด้านอื่น ๆขึ้น ลดต้นทุนและค่าธรรมเนียม เพื่อให้ครอบคลุมถึงผู้ที่ไม่สามารถจ่ายค่าบริการได้ ซึ่งองค์ประกอบทั้งสามนี้ เป็นองค์ประกอบของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จากบริบทนี้เองจึงต้องการศึกษาว่าบัตรกำนัลสามารถเข้าเกณฑ์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์หรือไม่ ในเรื่องของการวางแผนครอบครัว องค์ประกอบหลักของการจัดหาเงินทุนมี 3 ประการ คือ
1. กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ล่วงหน้า ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในครอบครัวยากจน และสมาชิกที่มีโรคประจำตัวในครอบครัวที่ยากจน
2. การโอนเงินไปให้ผู้ได้รับผลประโยชน์ ไม่ว่าจะผ่านทางรัฐบาล เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน หรือกลไกอื่น ๆ รวมถึงการโอนเงินสดตามเงื่อนไขโดยตรง หรือผ่านบัตรกำนัลก็ได้
3. เหตุผลที่ชัดเจนสำหรับการเลือก ใช้การบริการที่ครอบคลุม และมีผลดีต่อคนจำนวนมาก ได้แก่ การบริการที่มีมาตรการเชิงป้องกัน เช่น การฉีดวัคซีน การวางแผนครอบครัว การตรวจคัดกรองมะเร็ง เป็นต้น
ข้อมูลพื้นฐานของประเทศปากีสถานซึ่งเป็นสถานที่ดำเนินการวิจัย
โดยประเทศปากีสถานมีประชากรจำนวน 220 ล้านคน จากการสำรวจสำมะโนประชากรปี พ.ศ. 2560 มีอัตราการคุมกำเนิดโดยรวม 35% มีอัตราการ คุมกำเนิด สมัยใหม่ 26% และวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวระยะยาวต่ำสุด 2 – 3% มีอัตราการ คุมกำเนิด สมัยใหม่ อยู่ที่ 23 และ 20% ในชนบท และในกลุ่มประชากร ที่ยากจนที่สุด ตามลำดับ ในปี พ.ศ. 2555 ได้มีการตั้งครรภ์ถึงประมาณ 9 ล้านครั้ง ซึ่ง 4.2 ล้านครั้งเป็นแบบไม่ได้ตั้งใจ และในการสำรวจสุขภาพประชากรของปากีสถาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา ในส่วนภาคเอกชนได้ให้การบริการด้านสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์เพิ่มขึ้นจาก 34% เป็น 52% โดยเฉพาะในชนบทและในกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุด
วัตถุประสงค์ของการศึกษา: เพื่อประเมินประสิทธิผลของวิธีการใช้บัตรกำนัลแบบใช้ครั้งเดียวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในการเพิ่มปริมาณการใช้ และการกำหนดเป้าหมายที่ดีขึ้นในการคุมกำเนิดสมัยใหม่ของกลุ่มผู้หญิงสองกลุ่มที่มีความยากจนที่สุด ในชุมชนชนบทและชุมชนเมืองของแคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน โดยบัตรกำนัลนี้มีวัตถุประสงค์อยู่ 3 ข้อ คือ การบริการ การติดตาม และการจัดการต่อผลข้างเคียง รวมถึงการบริการนำยาฝังคุมกำเนิด และห่วงอนามัยคุมกำเนิดออกให้
วิธีการศึกษา: มุ่งเน้นไปที่วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวระยะยาว โดยเป็นการศึกษาแบบกึ่งทดลอง ซึ่งใช้แบบสอบถามก่อนและหลัง พร้อมทั้งมีคำถามเพิ่มเติมสำหรับการประเมินการบริการของบัตรกำนัล โดยผู้เข้าร่วมแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยแต่ละกลุ่มเป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจำนวนกลุ่มละ 1,276 คน ซึ่งมีอายุเฉลี่ยประมาณ 31 ปี แต่ในกลุ่มควบคุมอายุเฉลี่ยประมาณ 30 ปี โดยกลุ่มทดลองทำที่อำเภอ Chakwal แคว้น Punjab และกลุ่มควบคุมที่อำเภอ Bhakkar ในแคว้น Punjab โดยทั้งสองอำเภอนี้ได้รับการคัดเลือกจากตัวชี้วัดทางสังคมและประชากรศาสตร์ รวมถึงทางสุขภาพที่สามารถเปรียบเทียบกันได้ และระยะทางห่างกันอย่างน้อย 100 กิโลเมตร เพื่อลดการย้ายถิ่นของประชากร โดยทำการทดลองตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 – เดือนมกราคม พ.ศ. 2558
โดยการทดลองนี้มีการให้บริการ ได้แก่
1. บัตรกำนัลในการให้บริการการวางแผนครอบครัวฟรี
2. บัตรกำนัลในการให้บริการการวางแผนครอบครัว ล่วงหน้าจำนวน 3 ครั้ง
3. การเยี่ยมบ้านเพื่อการติดตามผลการจัดการผลข้างเคียง และถ้าหากจำเป็นสามารถเอายาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัยคุมกำเนิดออกให้
4. การเยี่ยมบ้านเพื่อให้ความรู้เรื่องวิธีการคุมกำเนิดทั้งระยะสั้นและระยะยาว
5. การให้บริการระดับชุมชน เช่น มีการเยี่ยมบ้านในเรื่องสุขภาพของผู้หญิง โดยผู้ที่ได้รับการฝึกอบรม เพื่อให้บริการด้านคำปรึกษาในเรื่องการวางแผนครอบครัว รวมถึงวิธีการวางแผนครอบครัวระยะยาว เช่น ห่วงอนามัยคุมกำเนิดและการฝังคุมกำเนิดโดยแพทย์
6. ผู้ปฏิบัติงานในชุมชนจะทำการประเมินผู้หญิงยากจนที่ต้องการวางแผนครอบครัว แล้วให้คำปรึกษาในการวางแผนครอบครัวกับผู้หญิงยากจนทั้งสองกลุ่ม โดยใช้เครื่องมือประเมินความยากจน
ผลลัพธ์: การตระหนักในเรื่องยาคุมกำเนิดนั้น เพิ่มขึ้น 30% ในกลุ่มทดลอง และ 14% ในกลุ่มควบคุม และบัตรกำนัลยังส่งผลให้การคุมกำเนิดเพิ่มขึ้น 16% และวิธีการคุมกำเนิดสมัยใหม่เพิ่ม 26% และประชากรที่ด้อยโอกาสมีความรู้มากขึ้น และยังใช้วิธีการที่ทันสมัยมากกว่าคนที่มีฐานะร่ำรวย ส่วนการทำหมันในผู้ชายนั้นเป็น 0 ของทั้งสองกลุ่ม แต่การทำหมันในผู้หญิงนั้นได้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในทั้งสองกลุ่ม ในช่วง 24 เดือนที่ผ่านมา
ดังนั้นบัตรกำนัลสามารถเพิ่มวิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราวและระยะยาวร่วมกับวิธีอื่น ๆ โดยการใช้บัตรกำนัลสามารถเข้าถึงกลุ่มประชากรที่ด้อยโอกาส ซึ่งพบได้บ่อยในกลุ่มคนยากจนและบัตรกำนัล ยังดูเหมือนจะลดความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงวิธีการที่ทันสมัยในกลุ่มคนมีฐานะร่ำรวย
บทสรุป: บัตรกำนัลเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง ในการเพิ่มการเข้าถึงการให้บริการในการวางแผนครอบครัว และการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งการเข้าถึงประชากรที่มีช่องโหว่ จะช่วยเพิ่มความเสมอภาค โดยสามารถขยายการเข้าถึงการคุมกำเนิดการเพิ่มการใช้วิธีการวางแผนครอบครัวที่ทันสมัย และเป็นทางเลือกสำหรับการคุมกำเนิดได้อย่างมากในกลุ่มประชากรที่ด้อยโอกาส คนยากจน วัยรุ่น สตรีหลังคลอด เป็นต้น ซึ่งบัตรกำนัลยังเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ดีในการเพิ่มการเข้าถึงการบริการและคุณภาพของการบริการสำหรับผู้ด้อยโอกาส ซึ่งทางระยะยาวนั้นบัตรกำนัลยังสามารถเสริมสร้างศักยภาพของระบบสุขภาพ ให้มีส่วนช่วยในการบรรลุเป้าหมายของ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและเป็นหนทางสู่กำลังซื้อในเชิงกลยุทธ์ เช่น การทำประกันภัย
Warunee Kuthithamee วารุณี ขัติเตมี รายงาน
7 September 2020