องค์การสหประชาชาติ เป็นผู้กำหนดให้ทุกวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันผู้สูงอายุสากล” หรือ “International Day of Older Persons” โดยกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2534 เพื่อให้เห็นถึงคุณงามความดีของผู้สูงอายุที่สร้างสรรค์สิ่งดีงาม และทำคุณประโยชน์มาค่อนชีวิต โดยให้ความหมายของคำว่า “ผู้สูงอายุ” ว่า คือบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุตอนต้น คือ บุคคลที่มีอายุ 60-69 ปี ทั้งชายและหญิง และผู้สูงอายุตอนปลาย คือ บุคคลที่มีอายุ 70 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง
โดยองค์การสหประชาชาติ ยังได้คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2568 จะมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี ถึง 1,200 ล้านคน ทั่วโลก และในปี พ.ศ. 2593 จะมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ทั่วโลกถึงเกือบ 2,000 ล้านคนเลยทีเดียว สำหรับในประเทศไทย วันผู้สูงอายุเริ่มได้รับความสำคัญตั้งแต่สมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้มีการกำหนดนโยบายที่จะส่งเสริมสนับสนุน ให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพและดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข
Sono Aibe ประธานการประชุมได้กล่าวว่า การแก่นั้นเป็นความจริงของชีวิตโดยเราทุกคนมีอายุมากขึ้น ในแต่ละวัน และเราได้เห็นภาพผู้สูงอายุในแง่ลบมากมาย ทำให้เราทุกคนต่างก็กลัวการสูญเสียความเยาว์วัย เรามี
การเลือกปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราทุกวัย เช่น เรื่องสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ เรามีความเข้าใจผิดว่าผู้สูงอายุไม่มีเพศสัมพันธ์ จึงทำให้พวกเขาไม่ได้รับการบริการด้านสุขภาพ และคำปรึกษาทางเพศ
ดังนั้นความมุ่งมั่นของเราในเรื่องสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ นั้นจะหมายถึง เราต้องทำเรื่องนี้ ให้เป็นเรื่องของทุกคนและตลอดทั้งวงจรชีวิตของพวกเขา นี่คือสิ่งที่เราให้คำมั่นไว้ ในการประชุมนานาชาติด้านประชากรและการพัฒนาปี พ.ศ. 2537 แต่อีก 26 ปีต่อมา เรายังแทบจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ที่แต่งงานแล้ว สำหรับช่วงอายุ 15-49 ปี ที่เพิ่มมากขึ้นได้
ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 3.7 พูดถึงการเข้าถึงบริการทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์แบบสากล แต่เรื่องเพศของผู้สูงวัยแทบจะเป็นเรื่องที่ต้องห้าม การอภิปรายส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่เรื่องความผิดปกติทางเพศ แต่เรื่องทางเพศแทบจะไม่มีการพูดถึงเลย แม้ในบริบทของการดูแลสุขภาพตามปกติในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเองก็ตาม
Sai Jyothirmai Racherla ผู้อำนวยการโครงการของ Asian Pacific Resource & Research Centre for Women (ARROW) ได้นำเสนอว่า ผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี พ.ศ. 2562 ได้มีผู้สูงอายุทั่วโลก ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีจำนวนถึง 702.9 ล้านคน โดย 60.1% นั้นอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและยังคาดว่าภายในปี พ.ศ. 2593 จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นเกือบ 1.3 พันล้านคน ซึ่งแบ่งเป็นผู้หญิงสูงอายุจำนวน 52.9% ของประชากรที่อยู่ในภูมิภาคนี้ โดยผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศจีนใช้เวลา 25 ปี ประเทศไทยใช้เวลา 22 ปี และประเทศเวียดนามใช้เวลา 19 ปี แต่ประเทศฝรั่งเศสนั้นใช้เวลาถึง 115 ปี สำหรับการก้าวไปสู่สังคมสูงอายุ
แผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา หรือ ICPD เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง พัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้สูงอายุ โดยให้ความสำคัญกับผู้หญิงเป็นพิเศษ ช่วยให้ผู้สูงอายุมีชีวิตอย่างมีความหมาย มีคุณภาพ และสุขภาพที่ดี พร้อมทั้งขจัดความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติต่อผู้สูงอายุในทุกรูปแบบ อันมี 4 ด้านได้แก่
- มิติทางเพศ โดยในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ผู้หญิงมีอายุยืนกว่าผู้ชายโดยเฉลี่ยอย่างน้อย 4 ปี ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ชายจำนวน 90.8% ต่อผู้หญิงที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ชายจำนวน 69.5% ต่อผู้หญิงที่มีอายุเกิน 80 ปี | และเนื่องจากผู้หญิงมีอายุยืนยาวมากขึ้นและอาศัยอยู่คนเดียวก็มากขึ้น ทำให้เกิดความท้าทายในหลายประเด็น เนื่องจากผู้หญิงสูงอายุนั้น มีความมั่นคงทางด้านรายได้น้อยลง และยังถูกจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากร การดูแลสุขภาพ และที่อยู่อาศัย ซึ่งการปฏิบัติตามจารีตและประเพณีที่เป็นอันตราย ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การล่วงละเมิดและความรุนแรง โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงสูงอายุและมักจะทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากความยากจนและการขาดการเข้าถึงความคุ้มครองทางกฎหมาย
- การคุ้มครองทางสังคม โดยประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ได้เผชิญกับความท้าทายอย่างมาก เพื่อให้แน่ใจว่าระบบสุขภาพและสังคมของตนพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรในวัยสูงอายุ
- การล่วงละเมิดผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุทั่วโลกประมาณ 1 ใน 6 คนพบว่าเคยถูกล่วงละเมิดซึ่งได้มีการศึกษาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดต่อผู้สูงอายุซึ่งขาดความยินยอม โดยแบ่งออกเป็น การล่วงละเมิดทางจิตใจ ร่างกาย ทางเพศ อารมณ์และการเงิน อย่างไรก็ตามผู้หญิงสูงอายุนั้นมีความเสี่ยงต่อความรุนแรงทางเพศน้อยกว่าผู้หญิงที่อายุน้อย
- ด้านสุขภาพ ถึงแม้จะให้ความสำคัญทางด้านประชากรและผลกระทบของความไม่เสมอภาคทางเพศ นโยบายการพัฒนาที่เชื่อมโยงสิทธิมนุษยชนกับการเข้าถึงการดูแลสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ ทำให้สถานะของผู้หญิงและเด็กดีขึ้นแต่ในระบบสุขภาพระดับโลก ผู้หญิงสูงอายุก็ยังถูกกีดกันและไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการเหล่านี้ โดยผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ไม่ค่อยถามผู้หญิงสูงอายุเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศและความสัมพันธ์ของพวกเขา ทำให้ผู้หญิงสูงอายุไม่สามารถรับบริการการตรวจเอชไอวีและการดูแลสุขภาพที่จำเป็น รวมถึงบริการสนับสนุน ในด้านการล่วงละเมิด
การวางแนวทางป้องกันโรคและระบบสุขภาพ รวมถึงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้ผู้สูงอายุทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นการบริการด้านการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุระยะยาวทั้งด้านสุขภาพและสังคม ซึ่งจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจทั้งในด้านสุขภาพจิต ร่างกาย รวมถึงต้องมีการจัดการกับความรุนแรง การละเลย การทำร้ายผู้สูงอายุ และที่สำคัญควรส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของผู้สูงอายุ ป้องกันการเหยียดวัย และการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับอายุสำหรับในที่ทำงาน
Caitlin Littleton ที่ปรึกษาโครงการระดับภูมิภาคของ HelpAge International ได้นำเสนอภาพรวมของสุขภาพทางเพศของผู้สูงอายุว่า ได้มีความเชื่อผิด ๆ ที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องเพศในผู้สูงอายุอยู่ 4 ประการ ได้แก่
- ผู้สูงอายุไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การที่ไม่มีเพศสัมพันธ์นั้น จะเชื่อมโยงกับปัญหาด้านสุขภาพมากกว่าเรื่องของอายุ
- ผู้สูงอายุไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วผู้สูงอายุจำนวนมาก ยังคงต้องการมีเพศสัมพันธ์เหมือนวัยอื่น ๆ ได้แก่ เพื่อความสุข ความสัมพันธ์ ลดความเครียด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- ผู้สูงอายุไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ นั้นเป็นมุมมองจากภายนอกที่ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากสื่อต่าง ๆ และบรรทัดฐานทางสังคม อีกทั้งผู้สูงอายุบางคนก็ทำให้เป็นเรื่องส่วนตัวไม่กล้าที่จะพูดออกมา แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องเพศนั้น ทุกคนควรสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่และปลอดภัยและเราทุกคนควรเคารพสิทธิของผู้อื่น
- ผู้สูงอายุไม่ต้องมีเพศสัมพันธ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเชื่อและบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม สถานภาพการสมรส เพศ รสนิยมทางเพศ สุขภาพร่างกายและจิตใจ ล้วนมีอิทธิพลต่อการกิจกรรมทางเพศ เฉกเช่นเดียวกับทุกวัย ที่มีความถี่และมีกิจกรรมความพึงพอใจทางเพศที่หลากหลาย (โดยการสำรวจพฤติกรรมทางเพศทั่วโลกใน 26 ประเทศ ในปี พ.ศ. 2552)