การประชุมออนไลน์ครั้งที่ 9 ของการประชุมเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 10 เรื่อง การตอบสนองด้านมนุษยธรรมต่อเรื่องสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ในเอเชียและแปซิฟิก

Warunee Kuthithamee วารุณี ขัติเตมี รายงาน

การประชุมออนไลน์ครั้งที่ 9 ของการประชุมเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 10 เรื่อง การตอบสนองด้านมนุษยธรรมต่อเรื่องสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ในเอเชียและแปซิฟิก

Chonghee Hwang ผู้จัดการอาวุโส Family Planning 2020 ประธานในการประชุมกล่าวว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความขัดแย้งต่าง ๆ นั้นได้ส่งผลให้เกิดวิกฤตในด้านมนุษยธรรมที่เพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งช่วงก่อนที่จะเกิดการระบาดของโรค Covid 19 นั้น มีคนเกือบ 168 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 45 ของคนทั่วโลก ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษที่คนต้องการรับความช่วยเหลือและการปกป้องในด้านมนุษยธรรม เนื่องจากเป็นปัญหาสำหรับทุกคน แต่ก็เป็นปัญหาที่สาหัสมากสำหรับคนยากจน และคนด้อยโอกาส โดยเฉพาะผู้หญิง เด็กหญิง และกลุ่มชายขอบอื่น ๆ ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ ความพิการ และการเสียชีวิตของมารดา ความรุนแรงทางเพศ การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงเอชไอวี ซึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น กำลังเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉินในด้านมนุษยธรรม อันเนื่องมาจากความขัดแย้งภายในเอง ภัยธรรมชาติ และการแพร่ระบา ของโรคในขณะนี้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพของโลกนั้น จะยังคงดำเนินต่อไปและอาจเพิ่มมากขึ้นด้วย

ดังนั้นช่วงเวลานี้ เราต้องเร่งการพัฒนา ความก้าวหน้าในด้านการวางแผนครอบครัว และจัดเตรียมความพร้อม ด้านอนามัยเจริญพันธุ์ เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ระดับโลกจากการเพิ่มภาวะฉุกเฉินด้านมนุษยธรรมที่เพิ่มขึ้นของคนที่อาศัยอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นภายในประเทศให้มากขึ้น

Dr Tomoko Kurokawa ที่ปรึกษา ด้านมนุษยธรรมประจำภูมิภาค สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ UNFPA กล่าวว่า การสร้างความยืดหยุ่นของผู้หญิงและเด็กหญิงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน เนื่องจากความเท่าเทียมกันทางเพศ และการเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงและเด็กนั้นเป็นหัวใจหลัก และเป็นศูนย์กลางของการดำเนินการด้านมนุษยธรรมที่มีหลักการและมีประสิทธิผล แม้แต่ในสถานการณ์ปกติเอง ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการเจริญพันธุ์ ความเจ็บป่วย และความพิการในสตรีวัยเจริญพันธุ์ เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต โดยในช่วงเกิดภัยพิบัติ หรือหลังจากเกิดภัยพิบัตินั้น ผู้หญิง และเด็กหญิงจะต้องเผชิญกับ ความเสี่ยงอย่างมาก การสูญเสียที่อยู่อาศัย ความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตที่เพิ่มขึ้น และพวกเขายังได้สูญเสีย การเข้าถึงการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ทางเพศที่จำเป็น และยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสำหรับการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ ความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาวะ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และการเสียชีวิตของมารดา ซึ่งการเสียชีวิตของมารดามากกว่า 50% และการเสียชีวิตในทารกแรกเกิดประมาณ 45% เกิดขึ้นในบริบทที่เปราะบาง ผู้หญิงและเด็กหญิงประมาณ 500 คน ทั่วโลกได้เสียชีวิตในแต่ละวันจากภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ และการคลอดบุตรในประเทศที่เผชิญกับ วิกฤตด้านมนุษยธรรมอันเป็นผลมาจากการไม่สามารถเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ การคลอดและการบริการสูติกรรมฉุกเฉินได้ นอกจากนี้คู่รักหลายคู่ยังต้องการหลีกเลี่ยงหรือชะลอการมีบุตรในสถานการณ์วิกฤตนี้ แต่ยังขาดความเข้าใจ

เนื่องจากการขาดแคลนถุงยางอนามัย และการคุมกำเนิดฉุกเฉินนั้น จะเพิ่มความเสี่ยงของการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ และยังทำให้เพิ่มการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยอีกด้วย ซึ่งในช่วงความขัดแย้ง และภัยพิบัตินี้ ถ้าหากชุมชนไม่เข้มแข็งพอ จะทำให้เกิดความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาวะเพิ่มขึ้น ในส่วนของผู้หญิงหรือเด็กหญิงนั้น จะสามารถมีชีวิตหรือเสียชีวิตในกรณีฉุกเฉินนั้น ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ขั้นพื้นฐาน และได้รับการปกป้องจากภัยอันตรายหรือไม่ อันเนื่องจากว่า เรื่องสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ การบริการวางแผนครอบครัว และการป้องกันจากความรุนแรง สามารถช่วยชีวิตในภาวะฉุกเฉิน นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญพอ ๆ กับเรื่องอาหารและที่อยู่อาศัย

โดยโรคระบาดครั้งนี้ คล้ายกับเป็นการทดสอบระบบสุขภาพโดยรวม ความสามารถและขีดจำกัดของการตอบสนองในระดับประเทศ โดยทุกประเทศมีความเสี่ยงที่จะล่มสลาย ถ้าไม่มีระบบสุขภาพที่เพียงพอรองรับ

Manju Karmacharya ผู้เชี่ยวชาญในกรณีฉุกเฉินของโครงการสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของ UNFPA ประเทศบังคลาเทศ ได้นำเสนอเรื่อง การเปลี่ยนจากโครงการบริการมาตรฐานขั้นต่ำ หรือ Minimum Initial Service Package (MISP) เป็นการบริการสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่ครอบคลุมเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตของชาวโรฮิงญา ในภาวะฉุกเฉินที่ยืดเยื้อในค่าย Cox’s Bazar

เนื่องจากค่ายผู้ลี้ภัย ของชาวโรฮิงญาที่ Cox’s Bazar เป็นค่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560 นั้นได้มีประชากรทั้งหมด 1.2 ล้านคน ซึ่งมีชาวโรฮิงญาอยู่ 854,704 คน และคนพื้นที่ 440,000 คน ซึ่งในจำนวนนั้น 52% เป็นผู้หญิง โดยเป็นสตรีวัยเจริญพันธุ์ 304,388 คน ที่มีความต้องการด้านการบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์อย่างเร่งด่วน อีกทั้งยังมีสตรีตั้งครรภ์ 28,800 คน ซึ่งผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนล้วนมี ความเสี่ยงต่อความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาวะ

วัตถุประสงค์ของโครงการ
  • เพื่อให้แน่ใจว่าได้มีการให้ความสำคัญต่อปัญหาด้านสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของชาวโรฮิงยา
  • เพื่ออำนวยความสะดวกในเปลี่ยนการดำเนินการโครงการบริการมาตรฐานขั้นต่ำ ให้เป็นการบริการด้านสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่ครอบคลุม
  • เพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้มาตรฐานสากลในระดับชาติที่เหมาะสม
  • เพื่อจัดทำแผนและส่งเสริมการใช้งานในการบริการด้านสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์
  • เพื่อให้คำแนะนำสำหรับสถานบริการใหม่ งานการศึกษา และงานวิจัย
  • เพื่อประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข องค์กร เครือข่าย และทุกภาคส่วน
  • เพื่อเสริมสร้างระบบการประสานงานการส่งต่อ
  • เพื่อสนับสนุนการจัดการข้อมูล
  • เพื่อสนับสนุนนโยบายเพื่อการระดมทรัพยากรของผู้อำนาจการตัดสินใจและผู้บริจาค
โดยความสำเร็จที่สำคัญนั้นได้เกิดจากการสนับสนุนขององค์กร UNFPA โดยผ่านเครือข่ายที่ดำเนินการให้การบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่
  • การส่งมอบศูนย์บริการเพิ่มขึ้นจาก 21.5% ในปีพ.ศ. 2561 เป็น 47% ในปีพ.ศ. 2562
  • อัตราความชุกของการคุมกำเนิดเพิ่มขึ้นเป็น 35% ในปีพ.ศ. 2562 จาก 32.7% ในปีพ.ศ. 2561
  • ศูนย์บริการ ที่เป็นมิตรกับวัยรุ่นเพิ่มขึ้นจาก 2 แห่งในปีพ.ศ. 2561 เป็น 5 แห่งในปีพ.ศ. 2562
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ได้เริ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2562
  • การฝึกอบรมด้านสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่ครอบคลุม สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพชุมชน หรืออาสาสมัคร เพิ่มขึ้นจาก 0 เป็น 1,000 คน
  • ผู้เยี่ยมชมวิธีการวางแผนครอบครัวเพิ่มขึ้น 75.5% ในปี พ.ศ 2562 เมื่อเทียบกับปีพ.ศ. 2561
  • การเพิ่มขึ้นโดยรวมของการดูงานเพื่อวางแผนครอบครัว รวม 109% ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ในปีพ.ศ. 2562 ซึ่งมีผู้หญิงและเด็กหญิง 139,245 คนได้รับการแจกจ่ายชุด dignity kits
องค์กร UNFPA ได้จัดให้มีโครงการบริการมาตรฐานขั้นต่ำ สำหรับการบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ แต่หลังจากการเข้ามารับบริการที่มากขึ้น จึงได้เปลี่ยนเป็นการให้บริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่ครอบคลุม รวมถึงการจัดการกับความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ด้วย เช่น การตรวจคัดกรองช่องทวารหนักและมะเร็งปากมดลูก

ความท้าทายอัน ได้แก่
  • การให้คำปรึกษาสำหรับพยาบาลผดุงครรภ์
  • ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพที่มีทักษะและความสามารถนั้นได้มีการหมุนเวียนกันเข้ามาและออกไป
  • จำนวนศูนย์กลางการส่งต่อในชุมชนมีจำกัด
  • ความพร้อมของผู้บริจาคโลหิต สำหรับการบริการการดูแลทารกแรกเกิดและสูติกรรมฉุกเฉินที่ครอบคลุมในค่ายผู้ลี้ภัย
  • ความจำเป็นในการใช้บริการด้านสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ลดน้อยลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของ Covid 19
  • การตรวจสอบระหว่างหน่วยงาน
  • การให้บริการยาคุมกำเนิดชนิดฝัง หรือ Implanon ต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น
  • เงินทุน
สิ่งที่ควรดำเนินการต่อไป ได้แก่
  • การให้คำปรึกษาทางไกลสำหรับนางพยาบาลผดุงครรภ์
  • การเพิ่มผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพและการเสริมสร้างขีดความสามารถของพวกเขา
  • การขยายศูนย์การส่งต่อในชุมชน
  • การระดมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อเพิ่มการใช้บริการด้านสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์
  • การส่งเสริมให้มีการตรวจสอบการทำงานร่วมกันของอาสาสมัครตามกฎ 9 ข้อ ของเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
  • การรณรงค์เรื่องการใช้บริการยาคุมกำเนิดชนิดฝังที่ทำโดยนางพยาบาลผดุงครรภ์หรือแพทย์ เพื่อให้คนจำนวนมากเข้าถึง
  • การระดมทรัพยากรต่าง ๆ รวมถึงทุน
  • การจัดเตรียมด้านสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่ครอบคลุม รวมถึงการบริการสุขภาพมารดา และทารกแรกเกิด พร้อมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย โดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อป้องกันการตายและการเจ็บป่วยของมารดาและทารกแรกเกิด
วารุณี ขัติเตมี

รายงาน 

 Warunee Kuthithamee วารุณี ขัติเตมี รายงาน

19 October 2020